ทำไมเป็นเบาหวานค่าสายตาจึงผันผวน

ทำไมเป็นเบาหวานค่าสายตาจึงผันผวน

ปัจจัยที่จะทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงไปมานั้นจะเกิดขึ้นได้ถ้าองค์ประกอบของตาต่อไปนี้ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือหลายส่วนพร้อมกัน มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

อาจจะเคยได้ยินมาว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานถ้าระดับน้ำตาลไม่คงที่ อาจจะมีผลทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ เป็นผลให้บางวันก็มองเห็นชัดเจน บางวันก็มองเห็นไม่ชัด

ปัจจัยที่จะทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงไปมานั้นจะเกิดขึ้นได้ถ้าองค์ประกอบของตาต่อไปนี้ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือหลายส่วนพร้อมกัน มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

  • รัศมีความโค้ง และความหนาของกระจกตา
  • รัศมีความโค้ง และความหนาของเลนส์ตา
  • ค่าดัชนีหักเหของเนื้อเยื่อในตาแต่ละส่วน เช่น กระจกตา, aqueous humor, เลนส์ตา
  • ความยาวของลูกตา

การเปลี่ยนแปลงค่าสายตาในคนไข้เบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นมากนั้น สามารถพบได้ทั้งกรณีที่สายตาสั้นเพิ่มขึ้น(สายตายาวลดลง) หรือในกรณีที่สายตายาวเพิ่มขึ้น(สายตาสั้นลดลง) ที่เป็นเช่นนี้จากการศึกษาเก็บข้อมูล พบว่า เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมีผลทำให้ ความโค้งและความหนาของเลนส์ตาเปลี่ยนแปลง

  • ความโค้งของเลนส์ตา เพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สายตาสั้นมากขึ้น(สายตายาวลดลง)
  • เลนส์ตาหนาขึ้น เกิดจากเลนส์ตาบวมน้ำ เป็นผลทำให้ดัชนีหักเหโดยรวมของเลนส์ตาลดลง เป็นผลให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สายตายาวมากขึ้น(สายตาสั้นลดลง)

ดังนั้นค่าสายตาที่เปลี่ยนแปลงเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นมากนั้น จะสั้นเพิ่มขึ้นหรือจะยาวเพิ่มขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับผลรวมของการเปลี่ยนแปลงทั้งสองทางว่าผลจะออกไปในทางใดมากกว่ากัน

เพราะเหตุนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรจะควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ เพื่อลดปัญหาของการมองเห็นบางวันชัดบางวันมัว จากการเปลี่ยนแปลงไปมาของค่าสายตา ทั้งนี้การมองเห็นไม่ชัดในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาแล้ว อีกองค์ประกอบที่ต้องคิดถึงคือระบบประมวลผลและรับภาพของตา และสมองด้วย

ขอเสริมท้ายอีกนิดว่าผู้ป่วยเบาหวานควรที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับคงที่ของตนเอง ก่อนเข้ารับการตรวจวัดสายตา ประกอบแว่น เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่แม่นยำที่สุด

อ้างอิง :

  1. Weimer.N.G.M.   The influence of Diabetes Mellitus on the Refractive Properties of the Human Eye.   VRIJE UNIVERSITEIT AMSTERDAM.   2008.   dare.ubvu.vu.nl/handle/1871/13077.   Accessed June 22, 2015.
  2. Fumiki Okamoto.   Refractive changes in diabetic patients during intensive glycaemic control.   National Center for Biotechnology Information.   2000.   http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1723257/.   Accessed June 22, 2015

ปฐมา เชิดชูเกียรติสกุล

Doctor of Optometry

Leave a Comment